กำเนิดอาเซียน


1.กำเนิดอาเซียน


 1.1 ประวัติการก่อตั้งอาเซียน

           อาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East AsianNations หรือ  (ASEAN) ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ซึ่งได้มีการลงนามที่วังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมาชิกก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และ ไทย ซึ่งผู้แทนทั้ง 5 ประเทศ ประกอบด้วย

            - นายอาดัม มาลิก (รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย)
            - นายตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน (รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมาเลเซีย)
            - นายนาซิโซ รามอส (รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์)
            - นายเอส ราชารัตนัม (รัฐมนตรีต่างประเทศสิงค์โปร์)
            - พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย)

           ทั้งนี้ ในเวลาต่อมาได้มีประเทศต่าง ๆ เข้าเป็นสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม (เป็นสมาชิกเมื่อ 8 มกราคม พ .ศ.2527) เวียดนาม (เป็นสมาชิกเมื่อ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2538) ประเทศลาว, ประเทศพม่า (เป็นสมาชิกเมื่อ 23 กรกฎาคม พ.ศ .2540) และประเทศกัมพูชา (เป็นสมาชิกเมื่อ 30 เมษายน พ.ศ. 2542) ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีสมาชิกอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ


1.2 วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งอาเซียน

          วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งอาเซียน คือ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างประเทศในภูมิภาค ธำรงไว้ซึ่ง สันติภาพเสถียรภาพ และความมั่นคงทางการเมือง สร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคม และ วัฒนธรรมการกินดีอยู่ดีของประชาชนบนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก โดยแบ่งออก เป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

        1. เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการบริหาร
        2. เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงส่วนภูมิภาค
        3. เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและพัฒนาการทางวัฒนธรรมในภูมิภาค
        4. เพื่อเสริมสร้างให้ประชาชนในอาเซียนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี
        5. เพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปแบบของการฝึกอบรมและการวิจัยและส่งเสริมการศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
        6. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการเกษตรและอุตสาหกรรม การขยายการค้า ตลอดจนปรับปรุงการขนส่งและการคมนาคม
        7. เพื่อส่งเสริมความร่วมมืออาเซียนกับประเทศภายนอก องค์การความร่วมมือแห่งภูมิภาคอื่นๆ และองค์การระหว่างประเทศ
1.3 วิสัยทัศน์
   ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2540         (ค.ศ. 1997) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ไทยเป็นผู้ริเริ่มให้ผู้นำรัฐบาลอาเซียนรับรองเอกสาร วิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2020” (ASEAN Vision 2020)  ในโอกาสครบรอบ 30 ปีการก่อตั้งอาเซียน  โดยวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้กำหนดทิศทางและเป้าหมายการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศภายนอกอาเซียน ประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันจนสำเร็จ ได้แก่ การบรรจุแนวความคิดที่ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพัฒนาเป็นสังคมที่เปิดกว้าง (open societies) และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ (people participation)



1.4 ปฏิญญาอาเซียน

                สาระสำคัญกล่าวถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ การเกษตร อุตสาหกรรม การคมนาคม รวมทั้งการยกระดับรายได้ ความเป็นอยู่ของประชาชนเพื่อวางรากฐานความรุ่งเรืองให้กับอาเซียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนได้ลงนามปฏิญญาอาเซียน เมื่อ วันที่ 8 สิงหาคม 2510



1 ความคิดเห็น:

  1. ทำไมบางเว็ป การเข้าร่วมถึงไม่เหมือนกันเลยครับ เช่น เว็ปอื่น กัมพูชาเข้าร่วมวันที่ 9เมษา แต่เว็ปนี้วันที่ 30 อันไหนคือของแท้กันแน้ครับ

    ตอบลบ